Viva ขั้นตอนสุดท้ายของว่าที่ด๊อกเตอร์


กว่าจะจบเป็นด๊อกเตอร์กับเขาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน มีหลายขั้นตอน และใช้ระยะเวลาในการรอคอยที่เนิ่นนาน นับแต่วันที่ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาจนกระทั่งจบการศึกษาในระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ที่นี่เขาเรียกนักศึกษาระดับปริญญาเอกว่า Ph.D. Researchers หรือ Ph.D. Scholars แต่เรียกเป็นนักศึกษา ป.เอก ก็คงพอได้ แม้ว่าหลักสูตรปริญญาเอกในหลายๆ ที่ไม่มีการเข้าชั้นเรียน แต่ก็มีอีกหลายๆ ที่ต้องเรียนวิชาบางอย่างเพิ่มเติม แม้แต่ที่เดคกันคอลเลจในปัจจุบัน นักศึกษาป.เอกต้องลงทะเบียนเรียนบางรายวิชาด้วย



แต่ภาระหลักของพวกป.เอกก็คือการจัดทำ วิทยานิพนธ์ ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ผู้ดูแลวิทยานิพนธ์ ซึ่งในอินเดียเรียกว่า ไกด์ (Guide) คำว่า วิทยานิพนธ์ ในภาษาอังกฤษใช้ทั้งคำว่า Dissertation และ Thesis แต่ในบางประเทศหรือบางมหาวิทยาลัยก็แยกกัน Thesis ใช้ในความหมายถึงวิทยานิพนธ์ของปริญญาตรีหรือโท ส่วน Dissertation ใช้โดยทั่วไปสำหรับวิทยานิพนธ์ของปริญญาเอก ซึ่งวิทยานิพนธ์นั้นเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องจัดทำและยื่นเสนอเพื่อพิจารณาการให้ปริญญา ที่เป็นเครื่องแสดงถึงผลงานการวิจัยและสิ่งที่เราได้ค้นพบและจัดทำเป็นรูปเล่มขึ้นมา

เมื่อได้จัดทำเอกสารจนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วก็ต้องทำ Synopsis เสนอเพื่อขอทำการ Pre viva ซึ่งเป็นการสอบปากเปล่าครั้งแรกก่อน ก่อนจะนำคำแนะนำจากคณะกรรมการไปแก้ไขเพื่อจัดทำเนื้อหาให้สมบูรณ์ แล้วถึงจะยื่นเสนอเล่มวิทยานิพนธ์ฉบับแก้ไขเสร็จสมบูรณ์แล้ว

หลังจากนั้นทางวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยจะจัดหาผู้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ (Examiners) 2-3 ท่าน ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์หรือนักวิชาการจากภายในและภายนอก แต่ไม่นับรวมไกด์ของเราเอง และจัดส่งเล่มวิทยานิพนธ์ไปให้ตรวจสอบ ในช่วงนี้มีขั้นตอนและใช้ระยะเวลามาก ซึ่งเป็นเรื่องการติดต่อของทางมหาวิทยาลัยและทางผู้ตรวจสอบเอง นักศึกษาทำอะไรไม่ได้ได้แต่รอคอยอย่างเดียว อาจนานถึง 4 เดือน หรือมากกว่านี้

เมื่อผู้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ส่งเล่มวิทยานิพนธ์นั้นกลับมาครบแล้ว ทางวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยก็จะนัดนักศึกษามาทำการ Viva สอบปากเปล่าครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า Viva voce หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า Viva ก็คือการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์นั่นเอง ซึ่งคณะกรรมการที่สอบจะประกอบด้วย หัวหน้าคณะที่นักศึกษาสังกัด (Head of Department) ผู้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ (examiners) ไกด์ของนักศึกษา นอกจากนั้นก็เป็นคณาจารย์ในคณะ นักศึกษาคนอื่นๆ และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง และสอบถามได้ (Open viva) ซึ่งจำนวนผู้เข้ารับฟัง Viva ต้องมากกว่า 20 คนขึ้นไปด้วย

ถ้าการสอบ Viva นี้ผ่านไปได้ด้วยดี ผู้ที่เข้ารับการ Viva สามารถตอบคำถามได้ชัดเจน  ก็มักจะถูกเรียกขานว่า “ด็อกเตอร์คนใหม่” โดยทันที เพราะหลังจากนี้แล้วแทบไม่มีอะไรยุ่งยาก ทางสถาบันก็จะออกใบรับรองการจบหลักสูตรให้ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น แต่ใบปริญญาจริงๆ ยังไม่ได้นะคะ อาจต้องรออีก บางทีเป็นปี ขึ้นอยู่กับรอบการมอบปริญญาบัตรของทางสถาบันด้วย

แต่นับระยะเวลาตั้งแต่ Pre viva จนถึง Viva จริงๆ อาจใช้เวลานานถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี เพราะเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าการทำงานของข้าราชการอินเดียเป็นอย่างไรบ้าง ก็ได้แต่ร้องเพลงรออย่างเดียว ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปหางานหาการทำรอก่อนที่เมืองไทย

ก็ขอแสดงความยินดีด้วยกับด๊อกเตอร์คนใหม่ ดร.ธนิษฐา รัศมีเจริญ ที่เพิ่งจะผ่านเวที Viva ไปหมาดๆ พร้อมกับความสำเร็จอย่างเต็มภาคภูมิในครั้งนี้ ยินดีด้วยจริงๆ ค่ะ

No comments:

Post a Comment